Calcium-minerals

แคลเซียม Calcium คืออะไร

calcium-cover

แคลเซียม ( Calcium )

– ความหมาย 

แคลเซียม เป็นแร่ธาตุที่มีมากที่สุดในร่างกาย มีประมาณ 1,250 กรัม นับเป็นร้อยละ 55 อยู่ในกระดูกและฟัน จับกันเป็นผลึกอยู่กับฟอสฟอรัส เป็นเกลือ Calcium Phosphates ดังนั้นเวลากล่าวถึง Calcium ในร่างกาย จึงมักนึกถึงเฉพาะกระดูก ทั้งที่จริงแล้วภายในร่างกายยังมีแคลเซียมอีกส่วนอยู่ในเลือด โดยจับอยู่กับโปรตีนในเลือดและอยู่เป็นแคลเซียมอิสระ

– หน้าที่ของแคลเซียม

นอกจากจะเป็นส่วนประกอบของกระดูกแล้ว ยังมีหน้าที่อื่นๆ อีกได้แก่ ช่วยในการแข็งตัวของเลือด เกี่ยวกับการทำงานของกล้ามเนื้อระบบประสาท ทำให้เกิดการหดตัวของเซลล์กล้ามเนื้อทั่วไป รวมทั้งกล้ามเนื้อหัวใจให้เป็นไปตามปกติ นอกจากนั้น calcium ยังเป็นตัวกระตุ้นการทำงานของโปรตีนอื่นๆ เช่น Osteocalcin ซึ่งเป็น corboxylated- glutamic acid ให้จับกับ แคลเซียมของ Hydroxyapatite ช่วยในกระบวนการสร้างและสลายกระดูก เรื่องที่สำคัญอีกอย่าง คือ แคลเซียมจากกระดูกยังทำหน้าที่ในการควบคุมความสมดุลของกรดและด่างในร่างกายด้วย 

กลไกการออกฤทธิ์ของยาแคลเซียมคาร์บอเนต คือ หลังรับประทานตัวยาจะไปทำปฏิกิริยากับกรดในกระเพาะอาหารจนมีฤทธิ์เป็นกลาง และเกิดเป็นสารประกอบแคลเซียมคลอไรด์ (Calcium chloride) ซึ่งละลายน้ำได้ดี จึงถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด เกลือแคลเซียมคาร์บอเนตเองยังก่อให้เกิดการกระตุ้นให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดออกมาได้เช่นเดียวกัน ผู้บริโภคจึงมักได้รับคำแนะนำว่าควรรับประทานยาพร้อมอาหาร หรือหลังอาหาร

แหล่งที่มาของแคลเซียม

  1. นม และผลิตภัณฑ์จากนม ทั้งนมโค นมแพะ และนมจากสัตว์อื่นๆ ซึ่งถือเป็นอาหารที่มีแคลเซียมมาก และดูดซึมได้ดี นมจืด 1 กล่อง (250 มล.) ประกอบด้วยแคลเซียมประมาณ 300 มิลลิกรัม
  2. ถั่ว และผลิตภัณฑ์จากถั่ว ที่ได้จากพืชตระกลูถั่ว เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง เป็นต้น ถือเป็นแหล่งอาหารที่อุดมด้วยแคลเซียม
  3. ปลาหรือสัตว์น้ำขนาดเล็ก ที่สามารถกินได้ทั้งกระดูก ถือเป็นแหล่งแคลเซียมสำคัญที่ได้จากระดูกของปลาหรือสัตว์น้ำขนาดเล็กที่สามารถรับประทานได้
  4. ผักสีเขียวเข้ม ถือเป็นแหล่งอาหารที่มีแคลเซียม แต่ยังน้อยกว่าปลา และสัตว์น้ำขนาดเล็ก

แคลเซียมสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกันคือ

1. แคลเซียมอนินทรีย์ ได้แก่ แคลเซียมคาร์บอเนต แคลเซียมคลอไรด์

2. แคลเซียมอินทรีย์ ได้แก่ แคลเซียมซิเตรต แคลเซียมฟอสเฟต แคลเซียมแลกเตต แคลเซียมคีเลต ไบโอแคลเซียม แคลเซียมแอล-ทรีโอเนต ซึ่งปริมาณแคลเซียมและการดูดซึมของแคลเซียมต่างรูปแบบก็จะต่างกัน

แคลเซียมรูปแบบที่พบในอาหารเสริมในประเทศไทยได้แก่

  1. แคลเซียมคาร์บอเนต ถูกนำมาใช้มากที่สุดเนื่องจากมีราคาถูก คุณสมบัติไม่ละลายน้ำ แต่ละลายได้โดยอาศัยกรดในกระเพาะ มีความสามารถในการดูดซึมได้พอๆกับแคลเซียมจากน้ำนม หากรับประทานแคลเซียมคาร์บอเนต 1,000 มิลลิกรัม จะมีปริมาณแคลเซียม 40% คือ 400 มก.แต่ดูดซึมได้น้อยเพียง 15% ซึ่งทำให้ร่างกายได้รับแคลเซียม 60 มิลลิกรัมซึ่งยังไม่พอแก่ความต้องการของร่างกาย (ที่ 70-90มิลลิกรัม) แคลเซียมคาร์บอเนตเป็นรูปที่นิยมใช้กันมากในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
  2. แคลเซียมซิเตรต มีปริมาณแคลเซียม 21% คือ 210 มก. และดูดซึมได้น้อยเพียง 15% ดังนั้นต้องรับประทานแคลเซียมซิเตรต 3,000 มก. จึงจะเพียงพอแก่ความต้องการของร่างกายในหนึ่งวัน
  3. แคลเซียมแลกเตต มีปริมาณแคลเซียมเพียง 13% เป็นรูปแบบสังเคราะห์ซึ่งดูดซึมดี แต่แคลเซียมแลกเตตและแคลเซียมกลูโคเนตอยู่ในรูปที่ทำให้เข้มข้นยากจึงไม่ เหมาะที่จะนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม
  4. แคลเซียมกลูโคเนต มี ปริมาณแคลเซียมค่อนข้างต่ำ (8.9%) ไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวานทาน ปัจจุบันทางคลินิคมักนำเอาแคลเซียมกลูโคเนตมาเป็น Intravenous fluids ยาฉีดเข้าเส้นเลือดดำ เพื่อใช้บำรุงแคลเซียมในภาวะฉุกเฉิน
  5. แคลเซียมอะมิโน แอซิต คีเลต ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ 80-90%ขึ้นไป ไม่ต้องอาศัย วิตามินดี เพื่อดูดซึม ไม่ตกค้างในร่างกายให้เกิดนิ่วหรือสิ่งไม่พึงประสงค์ ส่วนที่เหลือเพียง 10-20% จะถูกขับออกทางเหงื่อ,ปัสสาวะ คนเป็นโรคไตรับประทานได้
  6. แคลเซียมแอลทรีโอเนต ซึ่งสกัดมาจากข้าวโพด สามารถดูดซึมได้ 95% จึงทำให้การรับประทานแคลเซียมแอลทรีโอเนต 750 มิลลิกรัมก็เพียงพอแก่ความต้องการของร่างกายใน 1 วันคือดูดซึมได้ถึง 90 มก. (ความต้องการ 70-90 มก.) และเนื่องจากดูดซึมดีจึงไม่ตกค้างให้เกิดนิ่วและไม่ทำให้ท้องผูกด้วย อีกทั้งกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนในกระดูก และกระดูกอ่อน รวมทั้งสร้างน้ำไขข้อ ไปพร้อมกันด้วยโอกาสเสริมสร้างกระดูกและข้อให้แข็งแรง

ความสมดุลของแคลเซียมในร่างกาย
แม้ว่า แคลเซียมที่กระดูกดูเหมือนจะติดอยู่อย่างถาวร แต่อันที่จริงแล้วกระดูกจะมีการสลายออก (resorption) และยังสร้างขึ้นใหม่ (formation) อยู่ตลอดเวลา โดยขึ้นกับความสมดุลของฮอร์โมน หลายตัว ได้แก่ Parathyroid Hormone ( PTH ),Calcitonin (CT) และ 1,25[OH2]D3 ซึ่งช่วยให้มีการดูดซึมแคลเซียม ไม่ถูกละลายออกจากกระดูก และ Parathyroid hormone จะทำให้เกิดขบวนการ Resorption ขึ้น ซึ่งปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาแต่เมื่ออายุมากขึ้นโดยเฉพาะในหญิงหลังหมดประจำเดือนอาจเกิดการขาดดุลของแคลเซียมอย่างรวดเร็วคือ มีกระบวนการสลายมากกว่าการสร้างเพราะการขาด estrogen ซึ่งช่วยยับยั้งการสลายของกระดูก ทำให้กระดูกเกิดการผุกร่อนเปราะและหักง่ายเรียกว่า”ภาวะกระดูกพรุน” ( Osteoporosis )

ปริมาณที่ร่างกายต้องการแคลเซียมต่อวัน

  1. อายุ 0-6 เดือน 210 มก./วัน
  2. อายุ 6-12 เดือน 270 มก./วัน
  3. อายุ 1-3 ปี 500 มก./วัน
  4. อายุ 4-8 ปี 800 มก./วัน
  5. อายุ 9-13 ปี 1300 มก./วัน
  6. อายุ 14-18 ปี 1300 มก./วัน
  7. อายุ 19-30 ปี 1000 มก./วัน
  8. อายุ 31-50 ปี 1000 มก./วัน
  9. อายุ 51-70 ปี 1200 มก./วัน
  10. อายุมากว่า 70 ปี 1200 มก./วัน
  11. หญิงตั้งครรภ์ อายุ < 18 ปี 1300 มก./วัน
  12. หญิงตั้งครรภ์ อายุ 19-50 ปี 1000 มก./วัน
  13. หญิงให้นมบุตร อายุ < 18 ปี 1300 มก./วัน
  14. หญิงให้นมบุตร อายุ 19-50 ปี 1000 มก./วัน

แคลเซียมคาร์บอเนตมีขนาดรับประทานอย่างไร?

  1. รักษากรณีกระดูกพรุน ผู้ใหญ่รับประทาน 2,500 –7,500มิลลิกรัม/วันหลังอาหารโดยแบ่งรับประทาน 2 – 4 ครั้ง/วัน
  2. รักษาภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ ผู้ใหญ่รับประทาน 900 – 2,500 มิลลิกรัม/วัน หลังอาหารโดยแบ่งรับประทาน 2 – 4 ครั้ง/วัน
  3. รักษาภาวะอาการปวด จุกแน่นลิ้นปี่ ด้วยสาเหตุอาหารไม่ย่อย (Dyspepsia) ผู้ใหญ่รับประทาน 300 – 7,980 มิลลิกรัม/วัน หลังอาหารโดยแบ่งรับประทาน 2 – 4ครั้ง/วัน ขนาดรับประทานสูงสุดของอาการอาหารไม่ย่อย อยู่ในช่วง 5,500 –7,980 มิลลิกรัม/วัน ไม่ควรใช้ยาติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์ เว้นแต่จะมีคำสั่งจากแพทย์
  4. รักษาแผลในกระเพาะอาหารลำไส้ ผู้ใหญ่รับประทาน 1,250 – 3,750 มิลลิกรัม/วันหลังอาหารโดยแบ่งรับประทาน 2 – 4 ครั้ง/วัน ทั้งนี้การใช้ยาสำหรับรักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ หากใช้ยาติด ต่อกันนานเกินไปอาจกระตุ้นกระเพาะอาหารให้หลั่งกรดออกมามากหรือที่เรียกว่า Acid rebound จึง ต้องใช้ยานี้ตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น

** หมายเหตุ:จะเห็นว่าขนาดการใช้ยาแคลเซียมคาร์บอเนตมีขอบข่ายที่กว้าง เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคนซึ่งมีอาการและความรุนแรงของโรคที่แตกต่างกัน ดังนั้นการใช้ยาต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้นการใช้ยาแคลเซียมคาร์บอเนตในเด็ก ต้องอยู่ในการแนะนำของแพทย์เท่านั้น

ข้อควรระวังการใช้ยาแคลเซียมคาร์บอเนตอย่างไร?

  1. ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้แคลเซียมคาร์บอเนต
  2. ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะเกลือฟอสเฟต (Phosphate) ในกระแสเลือดต่ำ (Hypophos phatemia: อาการ เช่น สับสนกล้ามเนื้ออ่อนแรง)
  3. ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไต หรือมีการทำงานของไตผิดปกติ
  4. ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยในกลุ่มต่อไปนี้ เช่น ผู้ป่วยที่มีภาวะร่างกายสูญเสียน้ำ (ภาวะขาดน้ำ), ผู้ป่วยที่มีภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากเกินไป, ผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกในกระ เพาะอาหาร – ลำไส้ (ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร), และผู้ป่วยที่มีภาวะทางเดินอาหารอุดตัน (ลำไส้อุดตัน)
  5. ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่เป็นนิ่วในไต หรือผู้ที่มีภาวะท้องผูกเป็นประจำ
  6. ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีภาวะแคลเซียมในกระแสเลือดสูง (Hypercalcemia: อาการ เช่น สับสน คลื่นไส้ อาเจียน)
  7. ห้ามใช้ยาหมดอายุ

แคลเซียมคาร์บอเนตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  1. หากต้องใช้ยาแคลเซียมคาร์บอเนตร่วมกับวิตามินที่มีธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบ ควรเว้นระยะเวลาการรับประทานยาห่างกัน 2 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ ด้วยแคลเซียมคาร์บอเนตจะลดประ สิทธิภาพในการรักษาของยาวิตามินดังกล่าว
  2. การใช้แคลเซียมคาร์บอเนตร่วมกับยาปฏิชีวนะบางตัว จะทำให้ประสิทธิภาพในการต่อ ต้านแบคทีเรียของยาปฏิชีวนะลดต่ำลง หากมีความจำเป็นต้องรับประทานร่วมกันควรหลีกเลี่ยงและเว้นระยะเวลาให้ห่างกัน 2 – 3 ชั่วโมง ยาปฏิชีวนะดังกล่าว เช่น Doxycycline และ Tetra cycline
  3. การใช้แคลเซียมคาร์บอเนตร่วมกับยาป้องกันโรคหัวใจ อาจส่งผลให้กลไกการทำงานของยาป้องกันโรคหัวใจด้อยประสิทธิภาพลงไป หากมีความจำเป็นต้องรับประทานร่วมกัน อาจต้องปรับขนาดการรับประทานของยาทั้ง 2 กลุ่มนี้ ยาป้องกันโรคหัวใจดังกล่าว เช่น Aspirin
  4. การใช้แคลเซียมคาร์บอเนตร่วมกับยารักษาความดันโลหิตสูง จะทำให้ประสิทธิภาพในการลดความดันโลหิตด้อยลงไป ต้องทำการปรับขนาดรับประทานของยาทั้ง 2 กลุ่ม ยารักษา ความดันโลหิตสูง เช่น Atenolol, Felodipine Timololเป็นต้น

ประโยชน์ของแคลเซียมต่อร่างกาย

  1. แคลเซียมมีบทบาทสำคัญในการสร้าง และเป็นองค์ประกอบหลักของกระดูก และฟันในร่างกาย รวมถึงซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของกระดูก และฟัน
  2. มีส่วนสำคัญในการแข็งตัวของเลือด ช่วยป้องกันการสูญเสียเลือดหากเกิดบาดแผล
  3. ช่วยควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ
  4. แคลเซียมที่เป็นองค์ประกอบในเลือดมีความสำคัญต่อการทำงานของระบบประสาท และกล้ามเนื้อ หากมีปริมาณแคลเซียมต่ำ ประสาทจะไวผิดปกติต่อการตอบสนองต่อสิ่งเร้า กล้ามเนื้อเกร็ง และมีอาการชัก แต่หากประมาณแคลเซียมมากกว่าปกติจะทำให้ประสาทช้าลง
  5. ช่วยยควบคุมการเคลื่อนย้ายของแร่ธาตุต่างๆที่เข้าออกภายในเซลล์
  6. ช่วยกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์หลายชนิด เช่น เอนไซม์จากตับอ่อนที่ช่วยย่อยไขมัน เอนไซม์ที่เกี่ยวกับการใช้กลูโคส และเอนไซม์ในเยื่อสมองที่เกี่ยวกับการทำงานของระบบประสาท
  7. ช่วยในการดูดซึม วิตามิน บี2
  8. ช่วยป้องกันอาการผิดปกติของวัยใกล้หมดประจำเดือน
  9. ช่วยป้องกันการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับกระดูก เช่น โรคกระดูกพรุน โรคกระดูกเสื่อม โรคมะเร็งกระดูก เป็นต้น

อาการการขาดแคลเซียม

  1. ในวัยเด็กที่ขาดแคลเซียมจะทำให้เกิดโรคกระดูดอ่อน ทำให้การเจริญเติบโตของกระดูกผิดปกติ มีโครงสร้างของกระดูก และร่างกายเล็ก ตัวเตี้ย แขน ขามีรูปร่างผิดปกติ
  2. การขาดแคลเซียมของหญิงในวัยหมดประจำเดือนมักทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน กระดูกเสื่อมบริเวณข้อเข่าหรือข้อพับต่างๆ
  3. กล้ามเนื้อเกิดภาวะเกร็ง กระตุก และชัก หากเกิดการขาดแคลเซียมอย่างรุนแรง
  4. การแข็งตัวของเลือดขณะเกิดบาดแผลผิดปกติ เลือดแข็งตัวได้น้อย มีโอกาศต่อเลือดออก และเสียเลือดมาก