ฟลูออรีน-แร่ธาตุ

ฟลูออรีน-แร่ธาตุ
ฟลูออรีน
 (Fluorine) เป็นส่วนหนึ่งของสารสังเคราะห์ที่มีชื่อว่าโซเดียมฟลูออไรด์ (ที่ใช้เติมลงในน้ำดื่ม) และแคลเซียมฟลูออไรด์ (จากธรรมชาติ)

ฟลูออไรด์ (Fluoride) เป็นธาตุที่มีอยู่ทั่วไปในร่างกาย และมีมากที่สุดในกระดูกและฟัน โดเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของเคลือบฟัน โดยฟลูออไรด์เป็นสารประกอบของฟลูออรีน ซึ่งมีมากเป็นอันดับที่ 17 ของโลกจากจำนวนธาตุต่าง ๆ ในโลก

แหล่งที่พบสารนี้ตามธรรมชาติจะพบได้จากอาหารทะเล ชา น้ำดื่มที่เติมฟลูออไรด์ น้ำดื่มจากบ่อน้ำธรรมชาติ น้ำบาดาล น้ำในลำธาร และยังรวมไปถึงกาแฟ เนย ถั่ว เมล็ดทานตะวัน กระจับ ข้าวต่าง ๆ ไข่แดง น้ำมันตับปลา หัวบีต หัวแคร์รอต หัวไชเท้า ข้าวโพด กระเทียม ผักใบเขียว กะหล่ำปลี ผักโขม มะเขือ แอปเปิ้ล กล้วย องุ่น เชอร์รี ลูกแพร์ เป็นต้น

แร่ธาตุ-ฟลูออรีน

คำแนะนำในการรับประทานฟลูออรีน

  1. ยังไม่มีขนาดแนะนำให้รับประทานต่อวันอย่างเป็นทางการ แต่สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติและสถาบันวิจัยแห่งชาติสหรัฐอเมริกาแนะนำให้รับประทานวันละ 1.5 – 4 มิลลิกรัม โดยผู้คนส่วนใหญ่จะได้รับประมาณ 1 มิลลิกรัมต่อวันจากการดื่มน้ำที่เติมฟลูออไรด์
  2. ยังไม่พบฟลูออรีนที่อยู่ในรูปของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมแร่ธาตุรวมทั่วไป แต่ก็มีจำหน่ายในรูปของวิตามินรวมตใบสั่งแพทย์ สำหรับเด็กที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่น้ำดื่มไม่มีการเติมฟลูออไรด์
  3. การรับประทานในปริมาณที่มากเกินไปหรือประมาณวันละ 20 – 80 มิลลิกรัม อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
  4. ปริมาณของฟลูออไรด์ในอาหารจะเพิ่มขึ้น หากทำอาหารด้วยน้ำที่เติมฟลูออไรด์หรือเครื่องครัวที่เคลือบเทฟลอน
  5. คุณไม่ควรรับประทานฟลูออรีนเพิ่มเติม นอกจากว่าแพทย์หรือทันตแพทย์แนะนำให้คุณรับประทาน
  6. หากร่างกายคุณขาดแร่ธาตุชนิดนี้อาจเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุ และอาจทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้

ประโยชน์ฟลูออรีน

  1. ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุ ป้องกันฟันผุ
  2. ช่วยลดการเกิดกรดในปากเนื่องจากคาร์โบไฮเดรต ดังนั้นจึงไปลดการเสียของเคลือบฟัน
  3. ทำให้กระดูกแข็งแรง ช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ และความผิดปกติของกระดูกที่จะถูกสร้างขึ้น
  4. ทำให้นัยน์ตาดำ มีสีเข้มขึ้น สวยงามขึ้น และมีสุขภาพดี ซึ่งฟลูออรีนมีส่วนอย่างมาก สำหรับผู้ที่รักสวยรักงามจะขาดไม่ได้เลย
  5. ธาตุฟลูออรีนมีส่วนช่วยในการเจริญเติบโต
  6. ช่วยบำรุงระบบสืบพันธุ์
  7. ช่วยในการเพิ่มการดูดซึมของธาตุเหล็ก

อันตรายจากฟลูออรีน

  1. การได้รับสารนี้มากเกินไปอาจทำให้ฟันเปลี่ยนสีและมีอาการฟันตกกระได้ (คือเคลือบฟันจะมีลักษณะขาวด้านคล้ายชอล์ก พื้นที่ผิวไม่เรียบ และมักมีจุดสีเหลืองหรือสีน้ำตาลจับอยู่ทั่วไป และทำให้ผิวฟันไม่แข็งแรง)
  2. อาการเป็นพิษที่จะเกิดกับเด็กในท้อง จะเกิดก็ต่อเมื่อได้รับฟลูออไรด์ 50 ส่วนต่อล้าน (2,500 เท่าของปริมาณที่แนะนำ)
  3. การได้รับฟลูออไรด์ที่มากเกินไปอาจไปยับยั้งเอนไซม์ที่มีแมกนีเซียมเป็นองค์ประกอบ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับเมแทบอลิซึมของฟอสเฟตและ TCA Cycle
  4. การได้รับฟลูออไรด์ที่มากเกินขนาดในวัยเด็ก อาจมีอาการเฉียบพลันคือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเดิน น้ำลายไหล ชัก หัวใจวายตายได้
  1. หากได้รับมากเกินไป อาการที่อาจปรากฏได้ก็คือ กระดูกแน่นทึบ หมายถึงกระดูกจะมีเกลือแร่ไปจับอยู่มากกว่าปกติ ทำให้กระดูกหนาขึ้นกว่าเดิม ผิวไม่เรียบและมักมีกระดูกงอกบริเวณที่เกาะของเอ็นและกล้ามเนื้อ หากมีมากเกินไปอาจไปกดประสาททำให้มีอาการทางประสาทด้วย
  2. แม้ฟลูออไรด์จะมีส่วนในการเพิ่มการเจริญเติบโต แต่หากได้รับมากเกินไปก็อาจทำให้การเจริญเติบโตนั้นลดลง และเป็นสาเหตุทำให้เกิดการเสื่อมของตับ ไต ต่อมหมวกไต หัวใจ ระบบประสาท และระบบสืบพันธุ์