เบต้าแคโรทีน (Beta-carotene)
มีบทบาทสำคัญในการรักษาสุขภาพและเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ทั้งนี้ โดยปกติร่างกายของมนุษย์เราสามารถเปลี่ยนเบต้าแคโรทีนไปเป็นวิตามินเอได้ตามปริมาณที่ร่างกายต้องการ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เสมือนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระด้วย เป็นลิพิด (lipid) กลุ่มรงควัตถุ (pigment) ที่มีสีส้ม สีเหลือง อยู่ในกลุ่มแคโรทีนอยด์ (carotenoid) จัดเป็นแคโรทีนอยด์พวกที่เป็นสารตั้งต้นของ วิตามินเอ (pro vitamin A) เพราะสามารถเปลี่ยนรูปเป็น เรตินอล (retinol) ได้ที่เยื่อบุผนังลำไส้เล็กและตับ
แหล่งอาหารของเบต้าแคโรทีน
- อาหารประเภทผักและผลไม้ที่มีแคโรทีนอยด์สูง ได้แก่ ผักที่มีสีเขียวเข้ม และผลไม้ที่มีสีเหลือง สีส้ม เช่น ผักหวาน ผักตำลึง ผักกวางตุ้ง ผักบุ้งจีน ชะอม บร็อกโคลี่ มะระ ผักคะน้า แครอต ฟักทอง หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวโพดอ่อน มะม่วงสุก มะละกอสุก มะเขือเทศสุก แตงไท และอะโวกาโด เป็นต้น
- ส่วนเหตุที่อาหารบางชนิดมีสีเขียว เป็นเพราะสีของเบต้าแคโรทีนถูกสีเขียวของคลอโรฟิลล์บดบัง ปริมาณเบต้าแคโรทีนจะลดลงได้จากการประกอบอาหาร เช่น ต้ม นึ่ง (steaming) ผัด ที่ใช้ความร้อนสูงเป็นเวลานาน
ปัจจุบันมีหลายบริษัททางด้านอาหาร และเครื่องดื่มที่มีการนำเบต้าแคโรทีนมาผสมในอาหารเสริมเพื่อบำรุงร่างกาย เช่น น้ำผลไม้ นมผง เครื่องดื่มเกลือแร่ เป็นต้น สำหรับการรับประทานวิตามินเอเพื่อรักษาสุขภาพจะอยู่ที่ประมาณ 5,000 หน่วยสากล (IU) หรือเทียบเท่ากับเบต้าแคโรทีนที่ 3 มิลลิกรัม/วัน ส่วนปริมาณเบต้าแคโรทีนที่รับประทานเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรงจะอยู่ที่ประมาณ 15 มิลลิกรัม/วัน
ประโยชน์ของเบต้าแคโรทีน
- บำรุงสุขภาพของดวงตา เบต้าแคโรทีน เมื่อโดนย่อยสลายที่ตับแล้วจะได้วิตามินเอ ซึ่งร่างกายนำไปใช้สร้างสารโรดอปซินในดวงตาส่วน เรตินา ทำให้ตามีความสามารถในการมองเห็นในตอนกลางคืนได้ และยังลดความเสื่อมของเซลล์ของลูกตา ลดความเสี่ยงต่อการเป็นต้อกระจกด้วย
- ชะลอความแก่ เบต้าแคโรทีนให้ผลในการลดความเสื่อมของเซลล์จากอนุมุลอิสระ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดกระบวนการแก่
- ดูแลรักษาผิวพรรณอันเป็นส่วนของร่างกายที่ดีที่สุดที่จะทำให้ทราบว่าอนุมูลอิสระมีผลต่อเราแล้วหรือยัง เช่น ผิวเริ่มเหี่ยวย่น ไม่ผ่องใส
- ทั้งยังพบว่าเบต้าแคโรทีน ให้ผลกระตุ้นเซลล์ภูมิต้านทานในร่างกายที่ชื่อ ที–เฮลเปอร์ให้ทำงานต้านสิ่งแปลกปลอมได้ดีขึ้น ให้ผลดีกับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อมะเร็ง
เบต้าแคโรทีน นับเป็นสารอาหารที่มีบทบาทสำคัญสำหรับสุขภาพของมนุษย์ อย่างไรก็ตามไม่พบว่ามีรายงานของการขาดเบต้าแคโรทีนเลย แม้ว่าการวิจัยจำนวนมากจะระบุว่า การเสริมด้วยเบต้าแคโรทีนใช้ในคนที่มีอาการขาดวิตามินเอ แต่ก็ยังคงไม่มีข้อมูลแน่ชัดที่แสดงถึงอาการขาดเบต้าแคโรทีน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์และนักโภชนาการแนะนำว่าเราควรรับประทานเบต้าแคโรทีนเข้าสู่ร่างกายโดยการบริโภคผักสดและผลไม้สด
โทษเบต้าแคโรทีน
สารเบต้าแคโรทีนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) หากร่างกายได้รับเกินความต้องการจะกลายเป็นสาร Pro-Oxidant ที่ช่วยส่งเสริมการเกิดสารอนุมูลอิสระ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง และโรคในระบบหลอดเลือด และหัวใจ โดยเฉพาะการรับประทานเบต้าแคโรทีนจากผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีความเข้มข้นสูงหรือรับประทานในปริมาณที่มากเกินขนาด ประกอบกับปกติร่างกายจะรับเบต้าแคโรทีนได้จากอาหารที่รับประทาานในแต่ละวัน เช่น ผักสีเขียว และผลไม้ชนิดต่างๆ จึงอาจเสี่ยงต่อการได้รับสารเบต้าแคโรทีนเกินความต้องการของร่างกายได้ ดังนั้น การรับประทานอาหารเสริมเบต้าแคโรทีนจึงต้องรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะกับความต้องการของร่างกาย
ข้อมูลอ้างอิง
เบต้าแคโรทีน จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี http://goo.gl/ahBSz1
Carotenoid / แคโรทีนอยด์ – Food Wiki http://goo.gl/qa0UHq
beta-Carotene From Wikipedia, the free encyclopediahttp://en.wikipedia.org/wiki/Beta-Carotene
Beta-Carotene Supplements for Vision and Osteoarthritis – WebMDhttp://www.webmd.com/vitamins-and-supplements/lifestyle-guide-11/beta-carotene
Beta Carotene Benefits – Vitamins and Nutrition Centerwww.vitamins-nutrition.org/vitamins/beta-carotene.html