ดวงตาคืออวัยวะที่บอบบางและสำคัญกับร่างกายมนุษย์ เป็นส่วนที่ช่วยด้านระบบการมองเห็น จึงไม่ควรมองข้ามที่จะดูและรักษาดวงตาอยู่เสมอ โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หรืออาหารที่มีวิตามินบำรุงสายตา ปัญหาที่พบในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะวัยทำงานที่ต้องทำงานหน้าคอม อาจเกิดอาการตาพร่ามัว ตาแห้ง ประสาทตาเสื่อม จึงต้องบำรุงสายตาด้วยอาหารที่มีวิตามินเหล่านี้
- วิตามิน เอ มีส่วนช่วยในการทำงานของจอประสาทตา และมีบทบาทสำคัญต่อการมองเห็นเวลากลางคืน ซึ่งพบมากในผักจำพวก ตำลึง ผักโขม ฟักทอง แครอท ชะอม คะน้า ยอดกระถิน
- วิตามิน ซี เป็นที่รู้จักกันดีของการชะลอความแก่ของร่างกาย ด้วยคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) นอกจากนี้ ที่ตายังพบว่า อาจช่วยชะลอการเกิดต้อกระจกได้อีกด้วย ผลไม้ที่มีวิตามิน ซี มากได้แก่ ฝรั่ง ส้ม สับปะรด มะขามป้อม ส่วนผัก ได้แก่พวกกะหล่ำดอก บร็อคโคลี่
- วิตามิน อี มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งมีอยู่ในเซลล์รับแสงที่จอประสาทตา และจากการศึกษาพบว่า อาจมีบทบาทช่วยชะลอการเกิดต้อกระจกเช่นเดียวกัน พบได้ใน น้ำมันธัญพืช น้ำมันดอกคำฝอย ข้าวโพด ถั่วเหลือง
- เบต้าแคโรทีน (Betacarotene) เป็นสารตั้งต้นของวิตามิน เอ มีบทบาทในการต้านอนุมูลอิสระ และช่วยในการมองเห็นเวลากลางคืนเช่นเดียวกับวิตามิน เอ พบมากในผักผลไม้ที่มีสีเหลืองส้ม เช่น ข้าวโพดอ่อน หน่อไม้ฝรั่ง ผักบุ้ง แครอท มะละกอ ข้อควรระวังคือการรับประทานเบต้าแคโรทีนในรูปอาหารเสริมมากไปในคนที่สูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดได้
- ลูทีน และ ซีแซนทิน (Lutein and Zeaxanthin) เป็นส่วนประกอบสำคัญที่พบในจุดรับภาพของจอประสาทตา และเลนส์ตา มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ พบว่า มีส่วนช่วยในการชะลอการเกิดต้อกระจก และโรคจอประสาทตาเสื่อม พบมากในผักโขม ข้าวโพด บร็อคโคลี่ ไข่แดง
- ซีลีเนียม (Selenium) เป็นสารอีกตัวหนึ่งที่ต้านอนุมูลอิสระ และช่วยชะลอการเกิดต้อกระจก พบได้ใน หอยนางรม หอยลาย ตับไก่ เมล็ดทานตะวัน
- สังกะสี(Zinc) มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ มีส่วนช่วยในการทำให้จอประสาทตาเสื่อมที่เป็นอยู่แล้ว เป็นช้าลง โดยแหล่งที่พบสังกะสีได้แก่ หอยนางรม ตับ เนื้อสัตว์